วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

หาดวนกร


อุทยานแห่งชาติหาดวนกร
แต่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าวังด้วนและป่าห้วยยาง เป็นที่ตั้งของสวนป่าห้วยทราย ท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ สวนป่าห้วยยาง สวนรุกขชาติห้วยยาง และสถานีวนกรรมห้วยยาง ท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาสถานีวนกรรมห้วยยางได้ถูกยกเลิกไป เมื่อทางกรมป่าไม้มีนโยบายที่จะจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จึงได้โอนพื้นที่แห่งนี้มาให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2532 เป็นต้นมา และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าวังด้วน ป่าห้วยยาง และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมเนื้อที่ 38 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 76 ของประเทศไทย
ลักษณะภูมิประเทศ
มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบขนานกับชายฝั่งทะเล ที่ระดับความสูงเฉลี่ยจากน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 0-5 เมตร ลักษณะเด่นของพื้นที่คือ มีชายหาดทอดยาวจากเหนือลงไปใต้ เป็นชายหาดเปิดที่มีความสะอาด และสวยงาม ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไปเป็นแบบมรสุมแถบร้อน และได้รับอิทธิพลจากลมทะเล จะมีความแตกต่างของช่วงฤดูฝน และฤดูแล้งอย่างเห็นได้ชัด ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม–เดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาวจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม–เดือนมกราคม ส่วนเดือนกุมภาพันธ์–เดือนเมษายน เป็นฤดูร้อน ปริมาณฝนตกช่วงเดือนตุลาคมฝนตกมากที่สุด และเดือนธันวาคมฝนตกน้อยที่สุด
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
พืชพรรณ ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกร เป็นป่าเบญจพรรณ สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งประกอบด้วยไม้ผลัดใบหลายชนิดขึ้นปะปน พื้นที่ป่ารกทึบ
พันธุ์ไม้ ที่พบได้แก่ ไผ่ป่า เกด ยางนา ประดู่ และมะค่าโมง เดิมพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติหาดวนกรเป็นป่าปลูกผสมผสานกับป่าธรรมชาติที่ฟื้นตัว พันธุ์ไม้ที่ปลูก ได้แก่ เสลา ตะแบก เป็นต้น
สัตว์ป่า พบว่ามีสัตว์ป่าทั้งหมด 61 ชนิด ที่พบมาก ได้แก่ นกแอ่นกินรัง ประกอบด้วยสัตว์ป่าที่เป็นนก มีทั้งหมด 48 ชนิด และเป็นประเภทอื่นๆ อีก 13 ชนิด เช่น ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่ายป่า จิ้งเหลน สุนัขจิ้งจอก นิ่ม งู และเม่น เป็นต้น
ทรัพยากรทางทะเล ชุกชุมไปด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่เป็นองค์ประกอบของชนิดกุ้ง ปลา ปะการัง เต่าทะเล ตลอดจนปลาโลมาบางชนิดแล้ว ยังพบว่าบริเวณรอบเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ มีแนวปะการังที่สวยงาม และในท้องทะเลยังพบแหล่งหญ้าทะเล เช่น หญ้าผมนาง เป็นต้น นอกจากนี้บริเวณโขดหินและลานหินตามแนวชายฝั่งทะเล บางบริเวณ เป็นแหล่งฟูมฟัก และเจริญเติบโตของหอยแมลงภู่ตามธรรมชาติ
แหล่งท่องเที่ยว
เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ มีชายหาดทรายที่ขาวละเอียดยาวประมาณ 100 เมตร และมีแนวปะการังบริเวณท้ายเกาะ บนเกาะทั้งสองมีถ้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกแอ่นกินรังนับแสนตัว
หาดวนกร เป็นหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหาดทรายขาวสะอาด ทอดตัวเป็นแนวยาวสลับกับหัวกรังโขดหินที่ยื่นลงไปในทะเล เหนือขึ้นมาบนชายฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวยาวขนานไปกับทะเลอ่าวมะค่า เป็นบริเวณคุ้งน้ำชายฝั่งทะเลจากบ้านวังด้วนถึงปากคลองน้ำจืด ลักษณะเป็นหน้าผาริมทะเล มีโขดหิน ตลิ่งชัน เสียงคลื่นกระทบฝั่งประสานกับเสียงสนลู่ลม อากาศเย็นสบาย เหมาะสำหรับเป็นจุดชมวิว
การเดินทาง
รถยนต์ เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4)ประมาณ 345-346 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าอุทยานฯ จากทางแยกเดินทางต่อไปอีก 3 กิโลเมตร จะพบที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดวนกร
รถไฟ สามารถลงได้ที่สถานีรถไฟวังด้วน หรือสถานีรถไฟห้วยยาง แล้วเดินทางไปโดยรถยนต์หรือ มอเตอร์ไซด์ รับจ้างรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารธรรมดาจากกรุงเทพฯถึงอุทยานแห่งชาติ